คำอธิบาย
หนังสือ การขัดขืนของพลเมือง เพื่อต่อต้านรัฐประหาร
ซีรีส์เรียงความ มุมมองเชิงเปรียบเทียบและมุมมองทางประวัติศาสตร์
ดร. สตีเฟน ซูนส
ศูนย์นานาชาติเพื่อความขัดแย้งอย่างไร้ความรุนแรง (ICNC)
จำนวน 96 หน้า
ขนาด 8.5 x 11 นิ้ว
ISBN 9781943271092
ชาติต่าง ๆ ไม่ได้สิ้นไร้หนทางหากกองทัพตัดสินใจทำการรัฐประหาร จากเหตุการณ์หลายสิบครั้งในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาพบว่า แม้ต้องเผชิญกับสภาพที่ผู้นำทางการเมืองถูกข่มขู่ คุกคามและความไม่แยแสของนานาชาติ แต่ประชาสังคมก็ลุกขึ้นมาท้าทายโจรปล้นอำนาจรัฐผ่านปฏิบัติการไร้ความรุนแรงทางตรงและการไม่ให้ความร่วมมือเป็นวงกว้างได้ พลเมืองที่ปราศจากอาวุธสามารถระดมคนได้รวดเร็วอย่างมากจนเอาชนะกองทัพที่ทรงพลังอำนาจและมุ่งมั่นตั้งใจยึดอำนาจการควบคุมของรัฐบาลได้อย่างไร อะไรเป็นปัจจัยต่อความสำเร็จและความล้มเหลวของขบวนการต่อต้านแบบไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อโค่นล้มการรัฐประหารและสร้างความก้าวหน้าทางประชาธิปไตยให้เป็นปึกแผ่น
งานเรียงความชิ้นนี้นำเสนอกรณีศึกษาและการวิเคราะห์เชิงลึกเพื่อพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์เชิงยุทธวิธีของการขัดขืนของพลเมืองเพื่อต่อต้านการยึดครองของกองทัพ ลักษณะของการระดมกำลังที่เกิดขึ้นในการขัดขืนของพลเมืองเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร และบทบาทที่การขัดขืนของพลเมืองเพื่อต่อต้านการรัฐประหารมีผลต่อความพยายามในการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศต่าง ๆ ในเวลาต่อมา (หรือความล้มเหลวในเรื่องดังกล่าว) งานชิ้นนี้นำเสนอบทเรียนสำคัญสำหรับนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยและสังคมต่าง ๆ ที่เปราะบางต่อการยึดอำนาจของกองทัพ กลุ่มข้าราชการพลเรือนและทหารระดับชาติ รัฐภายนอก หรือองค์กรไม่ใช่รัฐที่สนับสนุนประชาธิปไตย และการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับหัวข้อนี้ในอนาคต
องค์ความรู้ต่าง ๆ ในปัจจุบัน มีช่องโหว่ขนาดใหญ่หลายจุดซึ่งส่งผลต่อความเข้าใจของตัวแสดงต่าง ๆ ข้างต้นเกี่ยวกับปรากฎการณ์การขัดขืนของพลเมืองเพื่อต่อต้านรัฐประหาร ตัวอย่างเช่น หลายประเทศใช้ทรัพยากรมหาศาลไปกับการเตรียมสงครามเชิงรับและเชิงรุกเพื่อต่อต้านศัตรูจากต่างชาติหรือเพื่อปราบปรามผู้ก่อการร้ายในประเทศ แต่ไม่ได้เตรียมการต่อต้านภัยคุกคามจากการรัฐประหาร ซึ่งในทางประวัติศาสตร์แล้วเป็นภัยต่อความมั่นคงและสถาพรของสังคมและประชาธิปไตยของชาติต่าง ๆ ที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้กว่ามาก
ขณะเดียวกัน งานเขียนส่วนใหญ่เกี่ยวกับการรัฐประหารโดยกองทัพก็ล้วนแล้วแต่เพิกเฉยต่อบทบาทของประชาสังคม การระดมกำลังแบบไม่ใช้ความรุนแรง และการต่อต้านขัดขืนของพลเมือง งานที่ศึกษาเกี่ยวกับการรัฐประหารที่ผ่านมาถูกครอบงำโดยสมมติฐานต่ออำนาจที่มองจากบนลงล่าง การต่อสู้กันระหว่างผู้มีอำนาจอย่างลับ ๆ โครงสร้างการปกครอง พันธมิตรทางภูมิรัฐศาสตร์ บุคลิกภาพของผู้นำ และการพิจารณาเชิงยุทธศาสตร์ของตัวแสดงชนชั้นนำภายในประเทศและระหว่างประเทศซึ่งถูกนิยามอย่างคับแคบ เรียงความชิ้นนี้พยายามเติมเต็มช่องโหว่เหล่านี้ด้วยการนำเสนอมุมมองการวิเคราะห์ใหม่ที่ใช้ข้อมูลจากกรณีศึกษาที่ถูกนำมาจัดแบ่งเป็นประเภท เพื่อทำความเข้าใจว่าการขัดขืนโดยพลเมืองเพื่อต่อต้านรัฐประหารในช่วงที่ผ่านมามีวิธีการทำงานอย่างไร
ข้อค้นพบเชิงปฏิบัติของเรียงความชิ้นนี้คือเป้าหมายต่อต้านรัฐประหารเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตยเน้นไปที่การปกป้องสังคม ไม่ใช่สถานที่กายภาพแห่งใดโดยเฉพาะ การปกป้องสังคมที่ถูกคุกคามจากการรัฐประหารนั้นอาศัยการระดมกำลังอย่างกว้างขวาง การสร้างพันธมิตร วินัยของการไม่ใช้ความรุนแรง และการปฏิเสธไม่ยอมรับสิทธิอำนาจที่ไม่ชอบธรรม
เนื่องจากการระดมกำลังเพื่อต้านรัฐประหารในกรณีศึกษาต่าง ๆ ที่ถูกนำมาพิจารณาในงานชิ้นนี้ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากการวางแผนล่วงหน้าอย่างเป็นกิจจะลักษณะ จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่าการรัฐประหารต่าง ๆ ที่เคยประสบความสำเร็จในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้จะสามารถถูกยับยั้งไม่ให้เกิดขึ้นหรือถูกโค่นล้มได้อย่างรวดเร็ว และกลายเป็นแรงเสริมความพยายามในการพัฒนาประชาธิปไตยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นในช่วงหลังการรัฐประหารเป็นจำนวนมากน้อยเพียงใด หากประชาชนถูกเตรียมความพร้อมและได้รับการฝึกฝนทักษะความรู้เกี่ยวกับการต่อต้านขัดขืนของพลเมือง