คำอธิบาย
หนังสือ “แผ่นดินจึงดาล: การเปลี่ยนผ่านในสภาพบังคับ”
พิมพ์ครั้งที่ 2 ราคา 200 บาท
บทสัมภาษณ์ 9 นักวิชาการ เพื่อมองอดีต ปัจจุบัน และอนาคตประเทศไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ว่ามันจะนำพาเราไปสู่อะไร
แผ่นดินจึงดาล: กุลลดา เกษบุญชู มี้ด ทุนและรัฐไทย
กล่าวได้ว่าบทสนทนาต่อไปนี้คือการสรุปความอย่างย่นย่องานมาสเตอร์พีซเรื่อง The Rise and Decline of Thai Absolutism และงานศึกษาวิจัยที่ทำต่อเนื่องมาของ กุลลดา เกษบุญชู มี้ด นักวิชาการอิสระ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย
กุลลดากำลังให้ภูมิหลังการเมืองไทยนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบัน ผ่านมิติทุนนิยมที่เดินทางเข้าสู่ภูมิภาคนี้ ทำให้ชนชั้นนำไทยมองเห็นโอกาสแสวงหาประโยชน์จากมัน เป็นมุมมองที่แตกต่างจากการวิเคราะห์ที่มักพบเห็น ซึ่งช่วยให้เห็นการก่อตัวของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อทุนนิยมโลกเปลี่ยนขั้วจากอังกฤษสู่อเมริกา มันก็ยังคงส่งผลต่อการเมืองไทยอย่างมีนัยสำคัญเฉกเช่นอดีต
อ่านบทคัดย่อ – แผ่นดินจึงดาล: กุลลดา เกษบุญชู มี้ด ทุนและรัฐไทย
แผ่นดินจึงดาล: นิธิ เอียวศรีวงศ์ วัฒนธรรมและชนชั้น
นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นนักวิชาการอิสระที่ถอดรื้อมายาคติภาพชนบทในจินตนาการของชนชั้นกลาง ทำให้เห็นว่าชนบทไทยเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างและลึก รัฐธรรมนูญ 2540 และทักษิณ ชินวัตร คือตัวเร่งหนึ่งที่ทำให้คนชนบทตระหนักถึงพลังอำนาจของตนเองผ่านการเลือกตั้ง
ถ้าพูดตามภาษาของนิธิในเนื้อหาบทสัมภาษณ์ สิ่งนี้ทำให้ ‘สมดุลแห่งอำนาจ’ เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทว่า ชนชั้นนำไทย (อาจหมายรวมถึงชนชั้นกลาง) ไม่พึงพอใจกับความเปลี่ยนแปลงนี้ วิตก หวาดกลัว หงุดหงิด และยอมรับไม่ได้ แปรรูปออกมาเป็นการรัฐประหาร 2 ครั้งในห้วงเวลา 1 ทศวรรษ กับรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ คือปี 2550 ที่ชนชั้นนำเรียนรู้ว่ายังเข้มไม่พอ จึงฉีกทิ้งและเขียนใหม่เป็นรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เราทุกคนกำลังอยู่กับมัน รัฐธรรมนูญที่ถูกใส่กลไกมากมายเพื่อควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
อ่านบทคัดย่อ – แผ่นดินจึงดาล: นิธิ เอียวศรีวงศ์ วัฒนธรรมและชนชั้น
แผ่นดินจึงดาล: ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี เอ็นจีโอและภาคประชาชน
เป็นมือไม้ของรัฐราชการ เป็นนักฉกฉวยโอกาสทางการเมือง เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย ทั้งหมดนี้เป็นคำอธิบายเอ็นจีโอที่ค่อนข้างรุนแรง แต่ด้วยบทบาทของเอ็นจีโอจำนวนมากที่โลดแล่นบนเวทีประวัติศาสตร์การเมืองไทยระยะใกล้ไล่เรียงถึงปัจจุบันกาล ทำให้ ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยากจะสรุปเป็นอย่างอื่น
นี่อาจเป็นบทวิพากษ์วิจารณ์เอ็นจีโอที่ดุเดือดที่สุดชิ้นหนึ่ง ถึงกระนั้น มันก็เป็นบทวิเคราะห์อดีต ปัจจุบัน และอนาคตที่เอ็นจีโอและภาคประชาชนต้องรับฟัง เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 เพิ่มอำนาจรัฐในการจัดการทรัพยากรให้เข้มข้นขึ้นและลิดรอนสิทธิของประชาชนลง ไหนจะขบวนการเซ้งประเทศประเคนทรัพยากรให้แก่กลุ่มทุน โดยเฉพาะปัญหาที่ดินที่ปิ่นแก้วคาดว่าจะเป็นเรื่องใหญ่ในช่วง 10 ปีข้างหน้า
อ่านบทคัดย่อ – แผ่นดินจึงดาล: ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี เอ็นจีโอและภาคประชาชน
แผ่นดินจึงดาล: พวงทอง ภวัครพันธุ์ วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด
วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด (Impunity) และการละเมิดสิทธิมนุษยชนคือแผลเรื้อรังในสังคมไทย มันไม่ใช่ว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐนอกแถวจำนวนหนึ่งกระทำนอกอำนาจหน้าที่ ไม่ใช่แค่กองทัพที่ออกมารัฐประหาร แต่มันมีรากที่ฝังลึกอยู่ในชุดความคิด ความเชื่อของสังคม ตั้งแต่ระดับปัจเจกไปจนถึงกลไกรัฐทั้งระบบ ไม่เว้นแม้แต่ในกระบวนการยุติธรรม
เพราะท่ามกลางบรรยากาศของอำนาจเผด็จการทหารที่แผ่คลุมสังคมไทยอยู่นี้ ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการลอยนวลพ้นผิดยิ่งชัดเจน แต่ดูเหมือนว่าจะมีประชาชนเพียงบางกลุ่มเท่านั้นเห็นว่ามันเป็นปัญหา ขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่คิดเช่นนั้น (ซึ่งมิได้หมายความว่ามีเพียงรัฐบาลทหารเท่านั้นที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน)
อ่านบทคัดย่อ – แผ่นดินจึงดาล: พวงทอง ภวัครพันธุ์ วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด
แผ่นดินจึงดาล: วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กฎหมายและตุลาการ
ในมุมมองของ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งรัฐธรรมนูญ ทั้งศาล ล้วนเป็นผลพวงของระบอบใหญ่ของประเทศ ผลผลิตจากระบอบย่อมตอบสนองต่อความต้องการของระบอบ และแน่นอนว่านี้ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของอำนาจ
บทสนทนายาวนานชิ้นนี้ วรเจตน์ชำแหละอย่างรวบรัดต่อปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 สถาบันตุลาการและศาล นักกฎหมายและเนติบริกร ตุลาการภิวัตน์และฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ที่กำลังพาสังคมไทยเข้ารกเข้าพง
อ่านบทคัดย่อ – แผ่นดินจึงดาล: วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กฎหมายและตุลาการ
แผ่นดินจึงดาล: สุรชาติ บำรุงสุข กองทัพกับประชาธิปไตยไทย
เมื่อเอ่ยถึงกองทัพกับการเมืองไทย สุรชาติ บำรุงสุข จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นชื่อแรกๆ ที่ถูกนึกถึง เขากล่าวว่า การปฏิรูปการเมืองจะไม่มีทางสำเร็จ หากไม่ปฏิรูปกองทัพ และในทางกลับกัน การปฏิรูปกองทัพก็เป็นไปไม่ได้ หากไม่ปฏิรูปการเมือง ฟังแบบนี้ก็ให้รู้สึกว่าเขากำลังเล่นลิ้นและสร้างสภาวะงูกินหาง
ไม่ใช่ สุรชาติมองว่าการปฏิรูปกองทัพเป็นงานระยะยาวมากกว่าคำตอบสำเร็จรูปเฉพาะหน้า เขาเชื่อว่าสังคมไทยต้องปล่อยให้ระบอบประชาธิปไตยทำงาน ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านบทเรียนให้มากพอ โดยไม่มีการขัดจังหวะ ถึงที่สุด การเมืองในระบอบประชาธิปไตยจะเขย่าองคาพยพภายในให้เข้าที่เข้าทาง และเปลี่ยนทหารการเมืองให้เป็นทหารอาชีพ
อ่านบทคัดย่อ – แผ่นดินจึงดาล: สุรชาติ บำรุงสุข กองทัพกับประชาธิปไตยไทย
แผ่นดินจึงดาล: ธงชัย วินิจจะกูล กษัตริย์ การเมือง รัฐธรรมนูญ
ธงชัย วินิจจะกูล จากคณะประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิล เมดิสัน สหรัฐอเมริกา ผู้เปิดมุมมองทางประวัติศาสตร์ด้วยการนำเสนอแนวคิดราชาชาตินิยม ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ เขานำคำถามเรื่องการเปลี่ยนผ่านมาตีแผ่ สาวลึกกลับไปในอดีตสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อรัชกาลที่ 6 เชื่อมโยงกลับสู่ปัจจุบัน
หากจะตอบแบบขมวดปม อาการหมกมุ่นครุ่นคิดต่อการเปลี่ยนรัชกาลที่เพิ่งเกิดขึ้นในสังคมไทย นั่นก็เป็นเพราะระบอบประชาธิปไตยของเราไม่สามารถลงหลักหนักแน่นได้เพียงพอที่จะสร้างความต่อเนื่องของระบบ ตรงกันข้าม เรากลับเป็นประชาธิปไตยแบบชี้นำและแอบอิงกับตัวบุคคลมากจนเกินไป ทันทีที่เกิดการเปลี่ยนแปลง ระบบที่ดำรงอยู่จึงสั่นคลอนและสร้างภาวะความรู้สึกไม่มั่นคงไปทั่วทั้งสังคม
อ่านบทคัดย่อ – แผ่นดินจึงดาล: ธงชัย วินิจจะกูล กษัตริย์ การเมือง รัฐธรรมนูญ
แผ่นดินจึงดาล: อภิชาต สถิตนิรามัย เศรษฐศาสตร์การเมือง
บทสัมภาษณ์ อภิชาต สถิตนิรามัย จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชิ้นนี้ เขาถอยกลับไปวิเคราะห์กติกาการเข้าสู่อำนาจการเมืองตั้งแต่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบจนถึงรัฐธรรมนูญ 2540 เพื่อจะฉายภาพรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. และปฏิกิริยาลูกโซ่จากกติกาการเมืองชุดนี้
หากจะกล่าวสรุปรัฐธรรมนูญ 2560 ในวลีเดียว ก็คงได้ว่า ‘ปิดกั้นเจตนารมณ์ของประชาชน’ เพราะด้วยกลไกต่างๆ ที่ คสช. แทรกใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้เสียงของประชาชนสะท้อนผ่านการเลือกตั้ง อภิชาตไม่เชื่อว่าการถอยหลังกลับไปสู่รัฐราชการตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะรับมือได้
อ่านบทคัดย่อ – แผ่นดินจึงดาล: อภิชาต สถิตนิรามัย เศรษฐศาสตร์การเมือง
แผ่นดินจึงดาล: เกษียร เตชะพีระ การเมืองและพื้นที่สุดท้ายที่ต้องรักษาเอาไว้
มุมมองการวิเคราะห์ของเกษียร เตชะพีระ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยลัยธรรมศาสตร์ นำพาเราออกมาจากความขัดแย้งทางการเมืองในภาพเล็กไปสู่ภาพที่ใหญ่ของการปะทะต่อสู้ระหว่าง Deep State กับ Deep Society เมื่อฝ่ายแรกพยายามเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ระบอบไม่ประชาธิปไตย การพยายามสร้างอำนาจนำหรืออนุญาโตตุลาการสุดท้ายขึ้นใหม่ที่ไม่ได้มาจากประชาชน อันเป็นความพยายามที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัยปัจจุบัน
ภายใต้กติกาปัจจุบันที่เห็นได้ชัดเจนถึงการวางกลไกจำนวนมากเอาไว้เพื่อควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สิทธิเสรีภาพที่ถูกลดทอนลงอย่างมีนัยสำคัญ และแทบจะปิดช่องสำหรับการแก้ไข เหล่านี้ทำให้เกิดแนวโน้มที่พลังทางการเมืองกลุ่มต่างๆ ที่ถูกกดปรามจากรัฐธรรมนูญจนไม่มีช่องทางให้เล่นภายใต้กติกาจะก้าวลงสู่ท้องถนน และแปรเปลี่ยนเป็นความรุนแรงตามที่มีการวิเคราะห์กันไว้พอสมควร
อ่านบทคัดย่อ – แผ่นดินจึงดาล: เกษียร เตชะพีระ การเมืองและพื้นที่สุดท้ายที่ต้องรักษาเอาไว้